ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย
..............................................
.

                    ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เรื่อง ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงาน      พ.ศ. 2543 ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม 2543 ให้พนักงานทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งตามกำหนดเวลาและวิธีการทดลองปฏิบัติงาน ที่คณะกรรมการกำหนดเป็นเวลา 1 ปี ทั้งนี้ เมื่อผ่านการทดลองปฏิบัติงานแล้วให้มหาวิทยาลัยจัดทำสัญญาจ้างต่อไป จนกว่ามหาวิทยาลัย จะปรับเปลี่ยน ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล นั้น
                    เพื่อให้การประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ยกเลิก ประกาศมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย ประกาศ ณ วันที่  21  มีนาคม  2543 และให้ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่     โดยประกอบด้วยระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน การแต่งตั้งคณะกรรมการและวิธีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้
                         1. ระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน *
                               พนักงาน สาย ก ข และ ค มีเวลาทดลองปฏิบัติงาน 1 ปี หากหน่วยงานใดประสงค์จะขยายเวลาต่อไปอีก ให้เสนอคณะกรรมการ บริหารงานบุคคลสำหรับพนักงาน ขยายระยะเวลาต่อไปได้อีกไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้ เมื่อรวมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มทดลองปฏิบัติงานแล้ว  ต้องไม่เกิน  1  ปี    6   เดือน
                         2. คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน มีรายละเอียดดังนี้
                          2.1 คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงาน สาย ก. ประกอบด้วย
                                 2.1.1 คณบดีหรือผู้อำนวยการเจ้าสังกัด                                               ประธานกรรมการ
                                 2.1.2 หัวหน้าภาควิชาเจ้าสังกัดหรือเทียบเท่า                                      กรรมการ
                                 2.1.3 กรรมการที่คณะกรรมการประจำคณะ หรือ                                กรรมการ
                                           สถาบัน หรือสำนัก คัดเลือก 1 ท่าน
                                 2.1.4 เจ้าหน้าที่บุคคล                                                                        เลขานุการ
                                 หน่วยงานใดมิได้แบ่งเป็นภาควิชา ให้ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าหัวหน้าภาควิชาเป็นกรรมการแทน
                                 หน่วยงานโรงเรียนสาธิตฯ ให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตฯ เป็นกรรมการแทนหัวหน้าภาควิชา
                           2.2 คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงาน สาย ข.และ ค.ประกอบด้วย
                                 2.2.1 คณบดีหรือผู้อำนวยการเจ้าสังกัด                                               ประธานกรรมการ
                                 2.2.2 หัวหน้าฝ่าย หรือศูนย์ หรือสถานี หรือ                                        กรรมการ
                                           เลขานุการคณะ หรือสถาบัน หรือสำนักเจ้าสังกัด หรือเทียบเท่า
                                 2.2.3 กรรมการที่คณะกรรมการประจำคณะ หรือ                                กรรมการ
                                           สถาบัน หรือสำนัก คัดเลือก 1 ท่าน
                                 2.2.4 เจ้าหน้าที่บุคคล                                                                        เลขานุการ
                                 หน่วยงานโรงเรียนสาธิตฯ ให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตฯ เป็นกรรมการแทนหัวหน้าฝ่าย
                           2.3 คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงาน สาย ข.หรือ ค.ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี ประกอบด้วย
                                 2.3.1 รองอธิการบดีที่รับผิดชอบการบริหารงานบุคคล                         ประธานกรรมการ
                                           สำหรับพนักงานสาย ข. หรือ ค. ตามตำแหน่ง
                                           พนักงานที่ถูกประเมิน 1 ท่าน
                                 2.3.2 ผู้อำนวยการกองเจ้าสังกัดหรือเทียบเท่า                                      กรรมการ
                                 2.3.3 กรรมการที่อธิการบดีคัดเลือก 1 ท่าน                                          กรรมการ
                                 2.3.4 เจ้าหน้าที่บุคคล                                                                        เลขานุการ
                                 หน่วยงานโครงการจัดตั้ง ให้ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งเป็นกรรมการแทนผู้อำนวยการกอง
                           2.4 คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานที่สังกัดวิทยาเขต ประกอบด้วย
                                 2.4.1 รองอธิการบดีที่กำกับการบริหารงานของวิทยาเขต                     ประธานกรรมการ
                                 2.4.2 ผู้ช่วยอธิการบดีที่รับผิดชอบการบริหารงานบุคคล                       กรรมการ
                                           ของพนักงานตามตำแหน่งพนักงานที่ถูกประเมิน
                                           1 ท่าน
                                 2.4.3 ผู้อำนวยการกองเจ้าสังกัดหรือเทียบเท่า                                      กรรมการ
                                 2.4.4 เจ้าหน้าที่บุคคล                                                                        เลขานุการ
                                 วิทยาเขตที่ไม่ได้แบ่งส่วนราชการเป็นกองแต่มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นเป็นกรรมการแทน
ผู้อำนวยการกอง
                    3. หลักเกณฑ์ในการประเมิน
                         3.1 รายการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน  คะแนนเต็ม  100  คะแนน ประกอบด้วยรายการต่อไปนี้
                                3.1.1 ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่               (30 คะแนน)
                                          1. ความรู้ในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
                                          2. ความรู้ในวิชาเฉพาะด้าน
                                3.1.2 ความสามารถในการปฎิบัติงาน                         (40 คะแนน)
                                          1. การปฏิบัติงานสำเร็จตามเวลาที่กำหนด
                                          2. ความเชื่อถือได้ในผลงาน
                                          3. การติดตามผลงาน
                                          4. ความมีไหวพริบปฏิภาณ
                                          5. การปรับปรุงและพัฒนาตนเอง
                                          6. คุณภาพของงาน
                                          7. ความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น
                                          8. ความมุ่งมั่น เสียสละและอุทิศเวลา
                                3.1.3 ความประพฤติ                                                 (30 คะแนน)
                                          1. การรักษาวินัยและจรรยาบรรณ
                                          2. คุณธรรม
                                          3. ความซื่อสัตย์สุจริต
                                          4. ความมีเหตุผล
                                          5. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่
                                          6. อื่นๆ
                                สำหรับคะแนนย่อยในแต่ละรายการนั้น ให้ผู้บังคับบัญชาร่วมกันพิจารณากำหนดน้ำหนักคะแนนตามความสำคัญของแต่ละรายการ หากเห็นว่ามีความสำคัญเท่ากันก็กำหนดคะแนนให้เท่ากันได้
                           3.2 เกณฑ์การตัดสิน
                                  ผู้ที่จะผ่านเกณฑ์การประเมินจะต้องได้คะแนนรวมในแต่ละหมวดไม่ต่ำกว่า 50% และคะแนนรวมทุกหมวดไม่ต่ำกว่า 60 % หากผู้รับการประเมินได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ให้ผู้ประเมินเสนอแนวทางแก้ไข และระยะเวลาในการแก้ไข เพื่อผู้บังคับบัญชาแจ้งให้ผู้ทดลองปฏิบัติงาน ทราบต่อไป
                   4. วิธีการประเมิน
                       4.1 การดำเนินการของผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทดลองปฏิบัติงาน
                             ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมอบหมายให้มีผู้ควบคุมดูแลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานโดยให้ผู้ควบคุมดูแลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                             1. มอบหมายงานตามภาระหน้าที่และลักษณะงานในตำแหน่งของผู้ทดลองปฏิบัติงาน
                             2. สอนงาน แนะนำวิธีปฏิบัติงาน และควบคุมดูแลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานผู้ทดลองปฏิบัติงาน
                             3. แจ้งให้ผู้ทดลองปฏิบัติงานได้ทราบถึงภาระหน้าที่ รายการประเมิน วิธีการประเมินขั้นตอนและ หลักเกณฑ์ ในการประเมิน ผลการทดลองปฏิบัติงาน
                             4. ประเมินผลการปฎิบัติงานพร้อมเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้น
                        4.2 การดำเนินการของคณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน    *
                               ให้คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน ทำหน้าที่ประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของผู้ทดลองปฏิบัติงาน ตามรายการประเมิน วิธีการประเมิน ดังนี้
                               1. ประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน ครั้งที่ 1 เมื่อผู้ทดลองปฏิบัติงานได้ทดลองปฏิบัติงานมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ถ้าปรากฎว่า
                                   1.1 ผลการประเมินไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ ให้นำผลการประเมินดังกล่าวไปรวมกับผลการประเมินอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทดลองปฏิบัติงานครบ 6 เดือน
                                    1.2 ผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ ให้ประธานกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานแจ้งแก่ผู้ทดลองงาน ถึงสาเหตุที่ผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ และเสนอแนะแนวทางแก้ไข และปรับปรุง พร้อมทั้งระบุระยะเวลาที่จะใช้ประเมินในครั้งต่อไป
                                    การประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับจากวันที่ครบการทดลองปฏิบัติงาน
                                    ถ้าคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ทดลองปฏิบัติงานได้ทดลองปฏิบัติงาน ครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วและ ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานแล้ว   ปรากฎว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและความประพฤติเหมาะสม  สมควรปฏิบัติงานต่อไปได้ ก็ให้รายงาน ผลการประเมินของผู้นั้นต่อไปจนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ
                                    ในระหว่างทดลองปฏิบัติงานถ้าคณะกรรมการเห็นว่าผู้ทดลองปฏิบัติงานไม่สมควรปฏิบัติงานต่อไปก็ให้รายงานต่อไป จนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุในทันทีที่เห็นว่าผู้ทดลองปฏิบัติงานมีความประพฤติไม่ดีหรือไม่มีความรู้ความสามารถ ที่จะให้ปฏิบัติงานต่อไปได้ ไม่ต้องรอให้ครบกำหนดระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงาน
                                2. ประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน ครั้งที่ 2 เมื่อผู้ทดลองปฏิบัติงานครบ 1 ปี แล้ว ถ้าปรากฎว่า
                                     2.1 ผลการประเมินไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ ให้คณะกรรมการรายงานต่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุอนุมัติการทดลองปฏิบัติงาน
                                     2.2 ผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์
                                            2.2.1 คณะกรรมการเห็นว่าผู้ทดลองปฏิบัติงานไม่สมควรปฏิบัติงานต่อไป ก็รายงานต่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ และให้พ้นจากการปฏิบัติงานตามระยะเวลาในสัญญาจ้าง
                                            2.2.2 คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานเห็นว่าผลการประเมินตามระยะเวลาที่กำหนด ยังไม่สามารถนำมาใช้ในการประเมินผลได้ชัดเจน และมีความประสงค์จะขยายเวลาทดลองปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ออกไปอีก   โดยกำหนดระยะเวลาที่ขยายให้อีกไม่เกิน 6 เดือน รวมระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานทั้งสิ้นไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน ซึ่งหน่วยงานจะต้องเสนอขอก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 1 เดือน
                                     ในกรณีที่คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน พิจารณาเห็นว่า ไม่อาจพิจารณาประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานแต่ละครั้งได้อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากผู้ทดลองปฏิบัติงานได้ลาราชการ ดังนี้
                                      1. ลาคลอดบุตร
                                      2. ลาป่วยจำเป็นต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน
                                      3. ลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือในขณะเดินทางไป หรือกลับจากปฏิบัติงานตามหน้าที่
                                      4. ลาเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพล
                                      คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน จะประเมินผลรวมเมื่อผู้นั้นทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ครบ 1 ปี แล้ว
                        4.3 ผลการประเมินของคณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก กรรมการที่ไม่เห็นด้วยอาจทำความเห็นแย้งไว้ก็ได้
                        4.4 ให้แยกแบบประเมินของคณะกรรมการแต่ละท่าน เมื่อคณะกรรมการประเมินแล้วจึงนำมาสรุปผลต่อไป
คำอธิบายรายการประเมิน
                    รายการประเมิน ให้คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของผู้ทดลองปฏิบัติงาน ดังนี้
                    1. ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ให้พิจารณาความรู้ของผู้ทดลองปฏิบัติงานจากรายการประเมินต่างๆ ดังนี้
                        1. ความรู้ในกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ใช้ในการปฏิบัติงานในขณะที่กำลังทดลองปฏิบัติงานอยู่
                        2. ความรู้ในหลักวิชาเฉพาะด้าน หมายถึง ความรู้เฉพาะของวิชาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ ต้องทราบ
                    2. ความสามารถในการปฏิบัติงาน ให้พิจารณาความสามารถของผู้ทดลองฯ โดยพิจารณาจากผลงานที่ได้ปฏิบัติในด้านต่างๆ ดังนี้
                        1. การปฏิบัติงานสำเร็จตามเวลาที่กำหนด คือ ระยะเวลาที่รับผิดชอบงานควรให้สำเร็จลุล่วงในเวลาที่กำหนด
                        2. ความเชื่อถือได้ในผลงาน หมายถึง ผลงานที่ได้มานั้นสำเร็จตามเกณฑ์ และได้รับความไว้วางใจ
                        3. การติดตามผลงาน หมายถึง การตรวจขั้นตอนการดำเนินงานให้ได้ผลเป็นไปตามเป้าหมาย
                        4. ความมีไหวพริบปฏิภาณ หมายถึง ความสามารถในการพิจารณาตัดสินใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันเหตุการณ์
                        5. การปรับปรุงและพัฒนาตนเอง หมายถึง ความสนใจที่จะเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
                        6. คุณภาพของงาน หมายถึง ผลงานที่ได้ปฏิบัติมา มีความถูกต้อง ครบถ้วน ประณีต เรียบร้อย
                        7. ความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น  หมายถึง   ความสามารถในการติดต่อหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาร่วมในการดำเนินงาน    ให้ได้ผล
                        8. ความมุ่งมั่น เสียสละ และอุทิศเวลา หมายถึง ความตั้งใจที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จและเป็นผลดีแก่หน่วยงาน ความพอใจ เต็มใจ ยินดีที่จะรับผิดชอบงานในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ
                                      3. ความประพฤติ ให้พิจารณาคุณลักษณะต่าง ๆ
                                           1. การรักษาวินัยและจรรยาบรรณ   หมายถึง   การปฏิบัติตามกฎหมาย   ระเบียบ   ข้อบังคับ  อนุโลมตามจรรยาบรรณของ  ข้าราชการ
                                           2. คุณธรรม หมายถึง ความรู้สึก สำนึก ในสิ่งผิดชอบ ชั่วดี
                                           3. ความซื่อสัตย์ หมายถึง ความประพฤติที่ตรงและจริงใจ ไม่หลอกลวง ไม่คดโกง หรือไม่คิดทรยศ รวมทั้งไม่สนับสนุน หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการคดโกง หรือหลอกลวงด้วย
                                           4. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจโดยอาศัยข้อเท็จจริงในกฎระเบียบที่สามารอ้างอิงได้
                                           5. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หมายถึง การยอมรับภาระหน้าที่ของตนในการดำเนินงาน ให้สำเร็จโดยคำนึงถึงเป้าหมายของงานเป็นหลัก
                                           6. อื่นๆ หมายถึง กรณีที่ประเมินองค์ประกอบอื่นๆ ให้ระบุรายละเอียดที่สำคัญจำเป็นเฉพาะตำแหน่งที่จะประเมินลงในรายการประเมิน
                                           ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป

                                                                                         ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2543


                                                                                   (ลงนาม)            ธีระ สูตะบุตร
                                                                                               (ศาสตราจารย์ธีระ สูตะบุตร)
                                                                                         อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

( * แก้ไขตามประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2)