งานวินัยและนิติการ หน้าที่ความรับผิดชอบ
1.
การพิจารณาวินิจฉัยปัญหากฎหมาย การพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมาย
ลักษณะของงานเป็นการตรวจสอบเอกสารต่างๆ หรือพิจารณาข้อหารือต่างๆ ที่หน่วยงานภายในสังกัด ของ
มก. เสนอเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเอกสาร หรือข้อหารือในเรื่องเกี่ยวกับ
กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือเอกสารอื่น ๆ
ของ มก. หรือ เป็นเรื่องกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ ตลอดจนเอกสารต่างๆ
ที่ทางราชการเวียนให้ทราบ อาทิ มติ ค.ร.ม. ซึ่งในการ พิจารณาตรวจสอบเอกสารหรือข้อหารือในแต่ละเรื่องจะพิจารณาตรวจสอบในเรื่องต่างๆ
ที่มีการเสนอเข้ามานั้นเกี่ยวข้องด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง
หรือ เอกสารในเรื่องใดเคยมีการตรวจสอบ หรือมีการตอบข้อหารือในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
ถ้าไม่มีอาจใช้ดุลยพินิจการตีความ ตามตัวอักษร หรือตามเจตนารมย์ของกฎ
ระเบียบนั้น ๆ แล้วแต่กรณี หากกรณีเป็นกฎระเบียบของทางราชการ ถ้าพิจารณาแล้วไม่ได้ข้อยุติ
อาจหารื อ หรือ หาข้อมูลไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว
จากนั้นจะทำความเห็นเสนอ มก. เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบ ตามความ เห็นดังกล่าว
ก็จะแจ้งผลการพิจารณานั้นไปยังหน่วยงานที่เสนอเรื่องเข้ามาเพื่อทราบ หรือหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ
ด้วย ก็จะ เสนอให้เวียนผลการพิจารณานั้นให้ทุกหน่วยงานสังกัดของ มก. ทราบ
เพื่อพิจารณาให้ถูกต้องต่อไป
2.
ร่างและพิจารณาตรวจร่าง กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ
การพิจารณาร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือ ข้อบังคับ ที่หน่วยงานของมก.
เสนอมาจะพิจารณาตรวจสอบว่า ร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับนั้นๆ
เป็นเรื่องที่จัดทำขึ้นใหม่ หรือเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ
ที่มีผลใช้บังคับอยู่แล้ว ในขณะนั้น โดยการตรวจสอบจากบันทึกที่หน่วยงานเสนอมา
หรือตรวจสอบจากกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
ที่มีผลใช้บังคับอยู่ขณะนั้น หากยังคลุมเครือไม่ชัดเจนอาจสอบถามจากหน่วยงานที่ได้เสนอเรื่องเข้ามา
จากนั้นจะได้พิจารณา ในขั้นตอนต่อไป ดังนี้
2.1
กรณีเป็นกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ฎ. จะตรวจสอบและยกร่างกฎหมายดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอที่ประชุมคณบดีและสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยลำดับ หลังจากผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วจะนำเสนอทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาขั้นตอนต่อไป
ทบวงมหาวิทยาลัยจะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาฯ หลังจากผ่านความเห็นชอบแล้วจะทูลเกล้าถวายในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย
แล้วจึงนำประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 2.2
กรณีเป็นร่าง กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ ที่จัดทำขึ้นใหม่ จะพิจารณาตรวจสอบว่าตามร่างที่หน่วยงานเสนอมาเกี่ยวด้วยเรื่องใด
และเคยมีกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณบดี
หรือสภามหาวิทยาลัยหรือไม่ หากกรณีมีกฎ ระเบียบ หรือ ข้อบังคับซึ่งมีรูปแบบ
หรือมีลักษณะไปในแนวทางเดียวกัน ก็จะนำกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับนั้นๆ
มาพิจารณาเทียบเคียงกับร่างที่หน่วยงานเสนอมา โดยการยึดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ประกาศใช้แล้วเป็นฐานในการพิจารณา โดยในการตรวจสอบอาจให้ความเห็นหรือตั้งข้อสังเกต
พร้อมทั้งแก้ไขร่างที่เสนอมาให้เป็นไปตามระเบียบงานสารบรรณ และพิจารณาการใช้ข้อความต่างๆ
ให้ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่ไปขัดแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย จากนั้นจะเสนอร่างที่ได้ตรวจพิจารณาแล้วให้หน่วยงานที่เสนอเรื่องเข้ามาได้พิจารณาว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมย์หรือไม่
ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณบดี หรือสภามหาวิทยาลัยพิจารณาในลำดับต่อไป 2.3
กรณีเป็นร่างกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ ที่เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม
กฎ ระเบียบ หรือ ข้อบังคับเดิมที่มีอยู่แล้ว จะพิจารณาตรวจสอบว่าเป็นการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กน้อย
หรือเป็นการแก้ไขปรับปรุงใหญ่ ถ้าเป็นการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กน้อยก็จะยกร่าง กฎ
ระเบียบ หรือข้อบังคับเป็นฉบับที่ 2 ่ โดยกำหนดให้ยกเลิกกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ใช้อยู่เดิมทั้งฉบับ
ในการจัดทำร่าง กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ ในทั้งสองกรณีจะจัดทำบัญชีเปรียบเทียบแสดงความแตกต่างของกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเดิมกับ ร่างใหม่ที่ต่างออกไป
สำหรับขั้นตอนการตรวจพิจารณาจะมีลักษณะเดียวกันกับที่กล่าวตาม 2.2 3.
จัดทำนิติกรรม ลักษณะงานเป็นการตรวจสอบถึงลักษณะและประเภทของสัญญาที่มหาวิทยาลัยจักกระทำต่อบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานอื่น
โดยในการพิจารณาต้องกำหนดประเภทของสัญญาว่าเป็นสัญญาประเภทใด ทางราชการได้มีตัวอย่างของสัญญาประเภทนั้นๆ
ไว้หรือไม่ ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาไว้เป็น 2 ประเภทกล่าวคือ 1.
สัญญาที่เป็นไปตามแบบ ได้แก่ สัญญาที่ทางมหาวิทยาลัย
หรือทางราชการได้กำหนดลักษณะตัวอย่างของสัญญาเอาไว้ หรือสัญญาซื้อขาย สัญญาจ้าง จ้างบำรุง
จ้างที่ปรึกษา หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่ง ก.ว.พ. ได้กำหนดลักษณะของสัญญาไว้เป็นตัวอย่างท้ายระเบียบว่าด้วยการพัสดุ
พ.ศ. 2535 เป็นต้น ในการพิจารณาจะตรวจสอบว่าสัญญาที่หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเสนอมาเป็นสัญญาประเภทใด
หากเป็นสัญญาที่เป็นไปตามแบบก็จะพิจารณาถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ระบุไว้ในสัญญาว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่
มหาวิทยาลัยเสียเปรียบหรือไม่ และประการสำคัญคือ ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญานั้นคือใคร
ซึ่งโดยหลักแล้วจะเป็นอธิการบดี เว้นแต่มีคำสั่งมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น จากนั้นก็จะทำความเห็นเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดทำสัญญานั้น ๆ และถ้ามีคำสั่งมอบอำนาจไว้ ก็จะมอบให้หน่วยงานนั้นๆ
นำไปดำเนินการต่อไป 2.
สัญญาที่มิได้เป็นไปตามแบบ ได้แก่ ลักษณะของสัญญาที่มหาวิทยาลัยหรือทางราชการ
มิได้กำหนดลักษณะของสัญญาขึ้นไว้เป็นตัวอย่าง ซึ่งในการตรวจสอบพิจารณาลักษณะของสัญญาประเภทนี้ค่อนข้างจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ
โดยคำนึงถึงความถูกต้อง และให้มหาวิทยาลัยได้ประโยชน์จากข้อกำหนดในสัญญานั้นๆ มากที่สุด
ลักษณะของสัญญาดังกล่าวอาจเป็นประเภทเดียวกันกับสัญญาที่เป็นไปตามแบบ แต่มีข้อกำหนดเฉพาะที่จะต้องนำมากำหนดเป็นข้อสัญญาขึ้นใหม่
หรือเป็นลักษณะของบันทึกข้อตกลงต่างๆ ซึ่งขั้นตอนในการพิจารณานั้นจะต้องพิจารณาตั้งแต่รูปแบบข้อกำหนดในสัญญาตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ
ที่ต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในสัญญานั้น ๆ ซึ่งก็จะคล้ายกับการพิจารณาประเภทของสัญญาที่เป็นไปตามแบบจากนั้นก็จะทำความเห็นเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อให้ความเห็นชอบแล้วมอบให้หน่วยงานที่เสนอเรื่องเข้ามานำไปดำเนินการต่อไป 4.
รวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการทางคดี การรวบรวมข้อเท็จจริง
และพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการทางคดี เป็นการประมวลข้อเท็จจริงของมูลคดีที่เกิดขึ้นทั้งทางแพ่ง
และทางอาญาตลอดจนประมวลพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมูลคดีนั้นๆ โดยการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ
นิติกรจะประสานงานกับหน่วยงานที่มีปัญหา จากนั้นจะสรุปข้อเท็จจริงและพยานเอกสาร
หลักฐานต่างๆ เสนอมหาวิทยาลัย โดยในมูลคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นภายในกำหนด
3 เดือน นับแต่วันที่อธิการบดีทราบถึงมูลคดีอาญานั้น ๆ ในส่วนของคดีแพ่งจะนำเสนอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องร้องหรือแก้ต่างคดีแทนมหาวิทยาลัย
ในฐานะโจทก์หรือจำเลยแล้วแต่คดี สำหรับคดีที่ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง
จะประมวลเรื่องเสนอให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปกครองแก้ต่างให้ 5.
การดำเนินการบังคับคดี เริ่มจากศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชนะคดีแล้ว
พนักงานอัยการผู้ฟ้องคดีจะแจ้งเป็นหนังสือมาให้ดำเนินการสืบทรัพย์สินลูกหนี้ (จำเลย)
เพื่อจะได้นำยึด / อายัดมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ต่อไป การสืบทรัพย์สิน กระทำในขั้นตอนดังกล่าวหรือบางครั้งในระหว่างการดำเนินคดีของศาลชั้นต้น ถ้าโจทก์
(เจ้าหนี้) สามารถให้เบาะแสข้อมูลได้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินใด และทรัพย์สินนั้นอาจจะมีการถ่ายโอนไปให้ผู้อื่น
โจทก์ (เจ้าหนี้) ก็อาจขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิชั่วคราว โดยอาจยึด / อายัดทรัพย์นั้น
ๆ ไว้ชั่วคราวก่อนก็ได้ วิธีการสืบทรัพย์
มีดังนี้ 1. สอบถามข้อมูลที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
(ทะเบียนราษฎร) ไปยังสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง หรือกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
ในกรณีลูกหนี้เป็นนิติบุคคล 2.
ไปตรวจสอบ สืบสวน ณ สถานที่นั้น ๆ หรือสถานที่ใกล้เคียงเพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นของการมีสถานภาพบุคคลเป็นเบื้องต้นว่าอยู่
ณ สถานที่นั้นจริง กรณีนี้แยกเป็น 2 ประเด็น 2.1 ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
(จะในฐานะใดก็ตาม) และตัวอยู่ในบ้านจริง ก็จะเข้าไปเจรจาหรือลอบสังเกตความเป็นไปโดยเฉพาะทรัพย์สินในบ้าน
2.2 ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
(ฐานะใดก็ตาม) แต่ตัวไม่ได้อยู่จริง เช่น การแจ้งย้ายชื่อมาอยู่บ้านผู้อื่นเพื่อหลีกหนีการติดตาม
เช่นนี้ก็จะสอบถามเจ้าบ้านหรือผู้อยู่ในบ้านว่าผู้ใดอยู่บ้างเพื่อหาข้อพิรุธ
และจดหรือสังเกตทรัพย์สินที่อาจจะเป็นของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ซ่อนอยู่ เช่น
ยานพาหนะต่างๆ เพื่อจะได้นำมาตรวจสอบทางทะเบียนต่อไป
3.
จากการหาข้อมูลตาม ข้อ 2. บางครั้งได้เบาะแสร่องรอยการประกอบอาชีพหรือถิ่นกบดานหลบซ่อนก็อาจสืบสวนขยายผลต่อไป
หากลูกหนี้ (จำเลย) เป็นบุคคลที่อาจมีพิษภัย มีลักษณะอาชญากร ก็จะขอความร่วมมือจากพนักงานสอบสวน
(ตำรวจ) ให้ไปช่วยร่วมตรวจด้วย หรือแม้ลูกหนี้ (จำเลย) เป็นบุคคลธรรมดาแต่เวลาและสถานที่ไม่เอื้ออำนวยในการสอบสวน
สืบสวน ก็อาจให้ข้อมูลตำหนิ รูปพรรณ แหล่งข่าวเบื้องต้นเพื่อให้ตำรวจช่วยสืบสวนให้อีกทางหนึ่ง
แล้วสอบถาม หรือกลับมาเก็บข้อมูลเป็นระยะ ๆ 4. การสืบทรัพย์สินทางทะเบียนราชการ
จะใช้ในการตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องมีทะเบียนควบคุม เช่น ยานพาหนะ ที่ดิน สิทธิการเช่าโทรศัพท์ เงินฝากในธนาคาร
ปกติจะกระทำปีละครั้ง ระยะหลังมักจะไม่ค่อยได้กระทำเพราะหน่วยเก็บข้อมูลที่ถามไปจะปฏิเสธหรือภาคเสธทำนองเป็นความลับบ้างไม่ใช่หน้าที่บ้าง
ฯลฯ ผลการสืบทรัพย์
ถ้าได้ข้อมูลทางทรัพย์สินก็จะรายงานกรมบังคับคดี
หาทางยึด หรือ อายัดทรัพย์นั้น ๆ ต่อไป ถ้าได้ทราบเฉพาะความมีตัวตน
(ยังมีชีวิตอยู่) และอาชีพ ถิ่นที่อยู่ ก็จะเก็บเป็นข้อมูลในสำนวนและรายงานในหน่วยงานเกี่ยวข้องเช่น
กรมบัญชีกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี ตามระยะเวลา เช่น 6 เดือนต่อครั้ง สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แนวทางถือปฏิบัติให้สืบทรัพย์ 4 เดือนต่อครั้ง (เหลือเวลาไว้ 2 เดือน เตรียมการรายงาน)
บางครั้งมิได้รายงานด้วยหนังสือราชการให้ใช้รายงานทางโทรศัพท์ หรือเมื่อพบกับนิติกรผู้ทำเรื่องของกรมบัญชีกลาง
สำนักนายกรัฐมนตรี ตามงานประชุมสัมมนาต่างๆ ก็จะพูดถึงเล่าสู่กันฟัง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเรื่องเงียบหายไปก็จะสอบถามมาเป็นระยะ
ๆ 6.
ตรวจพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับวินัยข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว
การดำเนินการทางวินัย
จะเริ่มตั้งแต่มีผู้กล่าวหา กล่าวหาข้าราชการหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย โดยการกล่าวหานั้นกระทำเป็น ลายลักษณ์อักษร
หรือทำเป็นหนังสือ เสนอต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้นโดยลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการ นิติกรจะพิจารณาข้อกล่าวหานั้น
ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นข้อกล่าวหาซึ่งมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่
ซึ่งมีขั้นตอนการพิจารณา กล่าวคือ กรณีข้อกล่าวหานั้นมีมูลความผิดจริง ตาม
พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 หรือระเบียบลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ.
2537 ในบทวินัยหากเป็นมูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรงและมีมูลว่ากระทำผิดจริง โดยอาจมีคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหา
ก็จะพิจารณาว่ามูลความผิดในลักษณะดังกล่าว มหาวิทยาลัยเคยพิจารณาลงโทษในฐานใด ก็จะเสนอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาลงโทษในฐานเดียวกัน
หรือให้เป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน
กรณีข้อกล่าวหานั้น ๆ ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ก็จะเสนอต่อมหาวิทยาลัย
เพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งหักล้างข้อกล่าวหาและชี้แจงว่าข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหานั้น
เป็นประการใด จากนั้นจะเสนอต่อมหาวิทยาลัย เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
ในการดำเนินการสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและบุคคล คำให้การต่างๆ
นำมาประมวลเข้าด้วยกัน และสรุปว่าข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหานั้นเป็นประการใด หากพิจารณาแล้วไม่มีมูลความผิดทางวินัย
ก็จะเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อยุติเรื่องที่สอบสวน หรือมีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง
ก็จะเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาลงโทษตามมาตรฐานที่เคยลงไว้ โดยทำคำสั่งลงโทษแล้วแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
กรณีพิจารณาแล้วปรากฏว่ามีมูลความผิดวินัยร้ายแรง
ก็จะเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และดำเนินการขั้นตอนการสอบสวนที่กำหนดไว้ในกฎ
ก.พ. ฉบับที่ 18 เป็นการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จะเสนอสำนวนการสอบสวนต่อมหาวิทยาลัยเพื่อรายงาน
ค.ร.ม. พิจารณาสั่งการ เมื่อ ค.ร.ม. สั่งการแล้วอธิการบดีจึงสั่งตามความเห็นของ ค.ร.ม.
แล้วทำคำสั่งลงโทษทางวินัย แจ้งผู้ถูกกล่าวหา แล้วรายงานให้ทบวงฯ ทราบต่อไป
7.
ตรวจพิจารณาเกี่ยวกับการร้องทุกข์ หรือ อุทธรณ์ของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ
7.1 เรื่องอุทธรณ์ของข้าราชการ
(1) กรณีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง
ให้อุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540) ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
กรณีเมื่อมีข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง
เห็นว่าได้ถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ให้อุทธรณ์ต่อ อ.ก.ม.
อุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่ง อ.ก.ม. อุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย
มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์โทษทางวินัยไม่ร้ายแรง ตามกฎทบวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2539)
(2) กรณีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง
ให้อุทธรณ์ต่อ ก.ม. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
7.2 เรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการ กรณีเมื่อมีข้าราชการผู้ใดเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
หรือมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน ข้าราชการผู้นั้นอาจร้องทุกข์ต่อ
อ.ก.ม. อุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการ
ตามกฎทบวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2539) โดยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เป็นไปตาม กฎ
ก.พ. ฉบับที่ 17 และฉบับที่ 22 ว่าด้วยเรื่องร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์แล้วแต่กรณี
7.3 เรื่องอุทธรณ์ของลูกจ้างประจำ
เมื่อลูกจ้างประจำผู้ใดถูกคำสั่งลงโทษ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ
พ.ศ. 2537 ให้มีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ
อ.ก.ม. มหาวิทยาลัย (อ.ก.พ. กรม , อ.ก.พ. กระทรวง) การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์
เป็นไปตามหนังสือกระทรวง การคลังที่ กค. 0527.6/ ว. 50 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2541
7.4 เรื่องร้องทุกข์ของลูกจ้างประจำ ลูกจ้างประจำผู้ใดเห็นว่า
ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
หรือมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน ผู้นั้นอาจร้องทุกข์ได้ภายในสามสิบวัน
นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด 8.
การดำเนินการเกี่ยวกับการสอบข้อเท็จจริง และหาผู้รับผิดทางละเมิด เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของทางราชการ
ไม่ว่าจะเป็นการทุจริต หรือการสูญหาย หรือเสียหายก็ตาม โดยการสูญหายเสียหายนั้นจะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ
หรือจงใจ หรือเป็นการกระทำของบุคคลภายนอก หรือข้าราชการ ลูกจ้างในสังกัดของมหาวิทยาลัยก็ตาม
ขั้นตอนในการพิจารณาจะพิจารณาจากเรื่องที่หน่วยงานรายงานเหตุการณ์เข้ามาว่า กรณีความสูญหายที่เกิดขึ้นนั้นปรากฎตัวผู้รับผิดทางละเมิดแล้วหรือไม่
หรือมีผู้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ หากว่ายังไม่ปรากฎตัวผู้กระทำให้เกิดความสูญหาย
เสียหายนั้น หรือยังไม่มีผู้รับผิดในความสูญหายเสียหายดังกล่าว ก็จะเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด
ตามขั้นตอนดังนี้ 8.1 เสนอหัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
และหาผู้รับผิดทางละเมิด 8.2 พิจารณาดำเนินการสอบสวนโดยรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ
ทั้งจากเอกสารและบุคคลตลอดจนหลักฐานการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจจัดทำแผนที่เกิดเหตุและภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ
8.3 ประมวลหลักฐานต่างๆ
ที่รวบรวมได้ ประกอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเห็นในเรื่องนั้น ๆ ว่ากรณีต้องมีผู้รับผิดชอบทางละเมิดหรือไม่
หากไม่ปรากฎว่าความสูญหายเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของข้าราชการหรือลูกจ้าง ก็จะทำความเห็นเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อให้ยุติเรื่องแล้วรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณา
หากปรากฏตัวผู้รับผิดซึ่งจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะทำความเห็นเสนอต่อมหาวิทยาลัยว่า
ผู้ต้องรับผิดทางละเมิดคือใคร และจะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร แล้วรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณาในกรณีที่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทรัพย์สินนั้นเกินกว่า
20,000 บาท หากกรณีค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณา
แต่ต้องรายงานเพื่อทราบตามที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด 9.
การดำเนินการกับข้าราชการที่ผิดสัญญาลาศึกษา 9.1 งานฝึกอบรมจัดส่งข้อมูลการไปศึกษาฝึกอบรมฯ
มาให้พิจารณา โดยมีหนังสือขอให้กระทรวงการคลังคำนวณยอดเงินที่ผู้ผิดสัญญาลาศึกษาจะต้องชำระมาด้วย
9.2 งานวินัยฯ
จะทวงถามจนทราบผล (ยอดเงิน) ที่จะเรียกร้องให้ชดใช้ แล้วทวงถามไปยังผู้ผิดสัญญาลาศึกษาตามที่อยู่ที่ให้ไว้พร้อมกับสำเนาหนังสือทวงถามนี้ให้กองคลังทราบด้วย
9.3 เมื่อพ้นเวลาอันสมควร
ผู้ผิดสัญญาลาศึกษามิได้ชดใช้ตามที่แจ้งไป จะทวงถามไปอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับทวงถามไปที่ผู้ค้ำประกันสัญญา
และถ่ายสำเนาแจ้งกองคลังเพื่อทราบ 9.4 กรณีมีข้อขัดข้อง
เช่น หนังสือทวงถามตามข้อ 9.2 และข้อ 9.3 ไม่ถึงผู้รับ งานวินัยฯ จะแก้ปัญหาโดยดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลกับสำนักทะเบียนกลาง
(ทะเบียนราษฎร) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่อยู่เป็นปัจจุบัน แล้วดำเนินการไปใหม่ตาม ขั้นตอนข้อ
9.2 และ ข้อ 9.3 9.5 กรณีผู้ผิดสัญญาลาศึกษาได้รับหนังสือทวงถาม
แต่โต้แย้งข้อมูลการคำนวณเงิน งานวินัยฯ จะเสนอข้อโต้แย้งให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวน
เมื่อปรากฏผลออกมาเป็นข้อยุติ จะแจ้งไปยังผู้ผิดสัญญาลาศึกษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้นำเงินมาชำระตามยอดหนี้ที่ได้ข้อยุตินั้นแล้ว
9.6 กรณีที่แจ้งภาระหนี้ไปแล้ว
ผู้ผิดสัญญาลาศึกษาปฏิเสธไม่ชำระหนี้ งานวินัยฯ จะรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป
(ตามข้อ 4) 9.7 ในระหว่างการดำเนินการ
หากผู้ผิดสัญญาลาศึกษามีการเสนอผ่อนชำระหนี้ จะจัดทำหนังสือรับสภาพหนี้และผ่อนชำระตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดและถ่ายสำเนาหนังสือให้กองคลังไว้เป็นข้อมูล
|